‘ธงทอง’ นำเสวนา ‘มหาวิทยาลัยในพระราชปณิธาน’ ยกย่อง ‘สมเด็จพระเทพฯ’ ผู้เริ่มต้นงานด้านศิลปวัฒนธรรมจุฬาฯ

  • 11 พ.ค. 2563
  • 2417
หางาน,สมัครงาน,งาน,‘ธงทอง’ นำเสวนา ‘มหาวิทยาลัยในพระราชปณิธาน’ ยกย่อง ‘สมเด็จพระเทพฯ’ ผู้เริ่มต้นงานด้านศิลปวัฒนธรรมจุฬาฯ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังอาคารจุลจักรพงษ์ ทรงเป็นประธานในพิธีไหว้ครูดนตรีไทยของชมรมดนตรีไทย สโมสรนิสิตจุฬาฯ ประจำปี 2537 เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2537 ภาพจาก www.csr.chula.ac.th

 

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 23 มีนาคม ที่มติชนอคาเดมี นิตยสารศิลปวัฒนธรรมจัดกิจกรรมศิลปวัฒนธรรมเสวนา เรื่อง“มหาวิทยาลัยในพระราชปณิธาน : 100 ปี แห่งวิทยาการ และงานศิลปวัฒนธรรม” โดยมีศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นวิทยากร ดำเนินรายการโดย นายธงชัย ลิขิตพรสวรรค์

ศ.พิเศษธงทองกล่าวว่า การศึกษาก่อนรัชกาลที่ 5 เป็นแบบจารีตนิยม หาโรงเรียนที่เป็นทางการยากมาก เด็กผู้ชายจะเรียนตามวัด เด็กผู้หญิงเรียนการบ้านการเรือน ส่วนในระดับสูงขึ้นไปก็ต้องไปถวายตัวกับเจ้านายตามรั้วตามวัง เมื่อมีความเปลี่ยนแปลง ไปมาหาสู่กับต่างประเทศมากขึ้น ชาติตะวันตกเข้ามาประชิดประเทศเพื่อนบ้าน เราจึงมีการพัฒนาการศึกษา ต่อมารัชกาลที่ 5 ดำริว่าต้องมีโรงเรียนชั้นสูง มีความพยายามแปลคำว่า “University” ว่าสากลวิทยาลัย โดยตั้งใจว่าโรงเรียนชั้นสูงแห่งแรกจะตั้งชื่อว่า “รัตนโกสินทร์สากลวิทยาลัย” แต่ก็ไม่ได้ตั้ง ในปี2442 มีการตั้งโรงเรียนมหาดเล็ก ผลิตข้าราชการเข้าสู่กระทรวงมหาดไทย

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯมาทรงวางศิลาฤกษ์ตึกบัญชาการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปัจจุบัน) เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2458

 

ธงทอง จันทรางศุ

 

 

“เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 5 ปี 2453 โรงเรียนขยายขึ้น เปลี่ยนเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างข้าราชการแต่ไม่จำกัดเฉพาะข้าราชการกระทรวงมหาดไทย คนจึงเข้าเรียนมากขึ้น จากนั้นปี 2459 มีความเห็นสองฝ่ายว่าถึงเวลาที่จะตั้งมหาวิทยาลัยแล้วหรือยัง เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีเห็นว่าถึงเวลาแล้ว ขณะที่กระทรวงคลังคัดค้าน รัชกาลที่ 6 ทรงวินิจฉัย ว่ารัชกาลที่5 ทรงตั้งพระทัยที่จะตั้งมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว ต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ จึงเกิดเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“รัชกาลที่ 6 เสด็จมาวางศิลาฤกษ์ตึกบัญชาการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนคืออาคารมหาจุฬาลงกรณ์ในปัจจุบัน ซึ่งปีนี้อายุ 100 ปี ขณะที่มีอาคารแบบเดียวกันคืออาคารมหาวชิราวุธ สร้างปี2499 สมัยจอมพลป. พิบูลสงคราม ทำเป็นหอสมุดกลางจุฬาฯ ขณะที่อาคารหอประชุมสร้างขึ้นทีหลังตึกบัญชาการในราวปี2480กว่า และมีการพัฒนามาเรื่อยๆ อาคารยุคแรกของจุฬาฯจะมีเอกลักษณ์เป็นทรงไทย”

จากนั้น ศ.พิเศษธงทองกล่าวถึงเรื่องศิลปวัฒนธรรมในจุฬาฯว่า จุดเริ่มต้นด้านศิลปวัฒนธรรมของจุฬาฯ คือ เมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเป็นนิสิตในปี2516 พระองค์ทรงเข้าร่วมกิจกรรมดนตรีไทยร่วมกับนิสิตอื่นๆ ตลอดเวลา4ปีที่ศึกษาในจุฬาฯ ทรงทำกิจกรรมร่วมกับชมรมดนตรีไทยมาตลอดและทรงมีความรู้เรื่องดนตรีไทยอย่างดี ทำให้คนอื่นหันกลับมาสนใจดนตรีไทยไม่เฉพาะในจุฬาฯแต่ยังรวมถึงสังคมไทยทั่วไปด้วย

“ทุกวันนี้เมื่อมีพิธีไหว้ครูดนตรีไทยพระองค์จะเสด็จเป็นการส่วนพระองค์ทุกปี ภายหลังจึงย้ายมาจัดที่หอประชุมใหญ่ โดยพระองค์ทรงดนตรีไทยด้วยพระองค์เองทุกปี ยุคแรกที่มีการทำวงดนตรีดึกดำบรรพ์ พระองค์เสด็จมาซ้อมด้วย โดยมีครูประสิทธิ์ ถาวร ถวายการฝึกซ้อม ในยุคแรกฝึกกันที่บ้านครูประสิทธิ์ ภายหลังย้ายมาซ้อมที่บ้านหลังเล็กๆในจุฬาเป็นสำนักงานกิจกรรมศิลปวัฒนธรรม ต่อมาในปี 2530 มีการจัดแสดงดนตรีไทยครั้งแรก สมเด็จพระเทพฯทรงดนตรีไทยร่วมกับวงเป็นประจำทุกปี ภายหลังทรงดำริให้มีการแสดงจากบทพระราชนิพนธ์ที่ทรงนิพนธ์ใหม่ทุกปีเพื่อแสดงร่วมกับดนตรีไทย นอกจากนี้ยังมีวงซิมโฟนีออร์เคสตราของจุฬาฯ โดยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงสนับสนุนด้วยทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้นักดนตรีไปศึกษาเพิ่มความรู้ โดยวงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬาฯได้ขอพระราชทานอยู่ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ” ศ.พิเศษธงทองกล่าว

 

 

ทั้งนี้ ในวันที่ 26 มีนาคมนี้ จะมีการจัดงานจุฬาฯ 100 ปี ศตวรรษแห่งความภูมิใจ เวลา 17.30-20.30 น. ที่สนามหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราช จะรวมนิสิตเก่าจุฬาฯทั่วประเทศสวมชุดสุภาพสีดำร่วมกันจุดเทียน เพื่อแสดงความอาลัยและระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระบรมราชูปถัมภก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งระลึกพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ผู้พระราชทานกำเนิด และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ผู้ทรงประดิษฐานและทรงสถาปนาจุฬาฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามีผู้สนใจเข้าร่วมฟังเสวนาเป็นจำนวนมาก และมีผู้เข้าร่วม อาทิ นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบมจ.มติชน นายสุจิตต์ วงษ์เทศ นักเขียน ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูตร รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ดร.สันติ ฉันทวิลาสวงศ์ ที่ปรึกษาอธิการบดีจุฬาฯ นายกรรชิต จิตระทาน ผู้อำนวยการสำนักศิลปวัฒนธรรมจุฬาฯ โดยในบริเวณงานมีการขายหนังสือลดราคาจากสำนักพิมพ์ต่างๆ อีกทั้งยังมีการจัด “ตลาดนัดอคาเดมี” จำหน่ายอาหารและของใช้ สร้างความคึกคักให้ผู้มาร่วมงานที่ได้จับจ่ายสินค้า

 

เมื่อแรกสร้าง “ตึกเทวาลัย” อาคารหลังนี้ถูกเรียกว่า “ตึกบัญชาการ” ถือเป็นอาคารเรียนหลังแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นอาคาร “อักษรศาสตร์ 1” และปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น “อาคารมหาจุฬาลงกรณ์” (ภาพจากหนังสือ ร้อยเรื่องจามจุรี 100 ปีจุฬาฯ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2558)

 

แบบตึกใหญ่ของโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ หรือตึกบัญชาการแบบไทย ออกแบบโดย ดร.คาร์ล ดอห์ริ่ง นายช่างของกระทรวงมหาดไทย และ นายเอ็ดเวิร์ด ฮีลีย์ นายช่างของกระทรวงธรรมการ โดยอาศัยแบบไทยโบราณจากสุโขทัยและสวรรคโลก (ภาพจาก หนังสือ 70 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำเนิดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2530)

 

 

ขอบคุณภาพและข้อมูล    www.matichon.co.th

 

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top